GHS (Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals)
คือ ระบบสากลที่ใช้ในการจัดกลุ่มความเป็นอันตรายและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก โดยมีการแสดงรายละเอียดบน เอกสารข้อมูลความปลอดภัย (SDS : Safety Data Sheet , MSDS : Material Safety Data Sheet ) ระบบนี้พัฒนาขึ้นโดยองค์การ สหประชาชาติ เพื่อให้ทั่วโลกมีการจัดกลุ่มความเป็นอันตรายของสารเคมีที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยคำนึงถึงความเป็นอันตรายทางด้าน กายภาพ สุขภาพ
ข้อมูลที่อยู่ใน MSDS ของสารเคมีประกอบด้วย 16 หัวข้อหลัก ดังนี้
1. ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี บริษัทผู้ผลิตและหรือจำหน่าย
( Identification of the substance / preparation and of the Company / undertake)
- ชื่อของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ตาม IUPAC
- ชื่ออื่นที่เรียกสารหรือผลิตภัณฑ์เดียวกัน (Synonym)
- ชื่อสารเคมี ผลิตภัณฑ์ ตามที่ระบุบนฉลากปิดภาชนะบรรจุ
- การใช้งานของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ โดยระบุการใช้งานที่สำคัญที่สุดหรือการใช้งานโดยทั่วไป
- ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ ของบริษัทผู้จัดจำหน่าย
- วิธีจัดทำเอกสาร หรือวันที่ที่มีการปรับปรุงครั้งล่าสุด เนื่องจากอาจมีการค้นพบผลกระทบเพิ่มเติมของสารเคมีชนิดนั้น
- หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของบริษัท และ / หรือ หน่วยงานที่สามารถให้คำปรึกษาได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
2. ข้อมูลระบุความเป็นอันตราย
( Hazards Identification )
- ลักษณะโดยทั่วไปของสาร เช่น ของแข็ง ของเหลว สี กลิ่น เพื่อให้สามารถทราบได้ว่าสารมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
- ประเภทวัตถุอันตรายของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์
- ผลกระทบที่จะได้รับจากอันตรายของสารเคมีที่เกี่ยวกับลักษณะทางเคมีและกายภาพ ผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- ข้อมูลเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมีตามที่กำหนดและการใช้สารเคมีที่ผิดวิธี
3. ส่วนประกอบและข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสม
( Composition/Information on Ingredients )
- แสดงปริมาณหรือความเข้มข้นของส่วนประกอบต่างๆในสารผสม
- มีการะบุหมายเลข CAS (Chemical abstract Service) ของส่วนผสมทุกตัว เพื่อสะดวกในการค้นข้อมูลเพิ่มเติม
4. มาตรการปฐมพยาบาล
( First Aid Measures )
- แสดงข้อมูลที่บ่งบอกวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในกรณีที่ผู้ใช้งานสารนั้นสูดดมไอระเหยของสารเคมี หรือผิวหนังถูกสัมผัสโดยสารเคมีแล้วเกิดการแพ้ เป็นผื่นคัน เช่น ต้องล้างออกโดยทันทีด้วยน้ำประปา หรือน้ำสะอาดอย่างน้อย 15 นาที ก่อนนำส่งโรงพยาบาล เป็นต้น
- รายชื่อยาที่ใช้รักษา หรือต้านพิษ รวมทั้งข้อมูลหรือหมายเหตุสำหรับแพทย์ผู้รักษา
5. มาตรการผจญเพลิง
( Fire Fighting Measures )
- ข้อมูลการดับเพลิงสำหรับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงหรือหน่วยกู้ภัย เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเตรียมการดับเพลิงได้อย่างถูกต้อง
- บอกถึงวัสดุที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมในการดับไฟ เช่น ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ หรือต้องใช้น้ำยาเคมี
- บอกถึงวิธีการหรือข้อควรระวังในการดับไฟ
- สารอันตรายที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการลุกไหม้หรือไฟไหม้
- สมบัติการติดไฟหรือการเกิดระเบิด
- อันตรายอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างดับเพลิง เช่น ขณะดับเพลิงสารที่เหลืออยู่สามารถเกิดปฏิกิริยาอะไรขึ้นบ้าง
6. มาตรการจัดการเมื่อมีการหกรั่วไหลของสารโดยอุบัติเหตุ
( Accidental Release Measures )
- ข้อปฏิบัติเมื่อเกิดการหกรั่วไหลของสารเคมี
- คำแนะนำสำหรับการอพยพผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
- การควบคุมการแพร่กระจาย และวิธีชำระล้างสารเคมีที่หกรั่วไหล
- ข้อมูลการทำความสะอาดสารที่หกรั่วไหล เช่น การใช้วัสดุในการดูดซับ การใช้ละอองน้ำ การทำให้เจือจาง เป็นต้น
7. ข้อปฏิบัติการใช้และการเก็บรักษา
( Handling and Storage Information )
ข้อปฏิบัติการใช้ ข้อมูลที่ให้ต้องกระชับและชัดเจน ซึ่งประกอบด้วยข้อควรระวังและคำแนะนำทางเทคนิค เพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้งาน ได้แก่
- การควบคุมหรือจำกัดความเป็นอันตราย (containment)
- ระบบระบายอากาศทั้งแบบเฉพาะจุด และแบบทั่วไป (local and general ventilation)
- มาตรการป้องกันการเกิดละอองของเหลว (aerosol) ฝุ่น และเพลิงไหม้
- มาตรการเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เครื่องกรองในเครื่องดูดควันหรือเครื่องระบายอากาศ การเก็บและกำจัดสารที่หก เป็นต้น
- สิ่งจำเป็นหรือกฎอื่นๆ เกี่ยวกับสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ เช่น วิธีปฏิบัติ ข้อแนะนำ หรือข้อห้ามต่าง ๆ
การเก็บรักษา คำแนะนำและเงื่อนไขต่าง ๆ ของการเก็บรักษาสารเคมีอย่างปลอดภัย
MSDS ที่ดีควรจะมีวิธีการจัดการและการเก็บรักษามาให้ทางผู้ใช้งานด้วย การจัดเก็บสารเคมีอย่างถูกวิธี ช่วยให้ง่ายในการทำงาน และเกิดความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้จะเป็นการยืดอายุการใช้งานของสารเคมีอีกด้วย การเก็บสารเคมี มีข้อพึงปฏิบัติทั่วไป ดังนี้
- แยกการเก็บสารเคมีตามประเภทอันตราย จากนั้นจึงค่อยวางเรียงตามลำดับตัวอักษร
- ไม่ควรใช้ตู้ดูดควัน เป็นที่เก็บสารเคมี
- เก็บสารเคมีเข้าที่ ภายหลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติงานทุกครั้ง
- สารเคมีไวไฟ ควรเก็บตู้ควบคุมอุณหภูมิ เพื่อป้องกันการติดไฟ
- ไม่ควรเก็บสารเคมีบนชั้นในระดับที่เหนือระดับสายตาขึ้นไป
- ไม่ควรวางขวดสารเคมีซ้อนกันในแนวตั้ง
- ไม่ควรเก็บสารเคมีในบริเวณทางเดิน บันได หรือวางบนพื้น ควรเก็บในพื้นที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะ
- สารเคมีทุกตัวควรมีการบันทึก วันที่ได้รับเข้ามาในห้องปฏิบัติการ และวันที่เปิดใช้ เป็นต้น
8. การควบคุมการรับสัมผัสและการป้องกันภัยส่วนบุคคล
( Exposure Controls / Personal Protection )
- มีการระบุค่าขีดจำกัดในการได้รับสารสำหรับผู้ปฏิบัติงานกับสารเคมี
- มีการระบุถึงมาตรการในการป้องกันอันตรายจากสารเคมี
- วิธีการควบคุมด้วยระบบวิศวกรรม เช่น การออกแบบตึก การออกแบบห้องปฏิบัติการ การระบายอากาศที่ดี การเลือกใช้ตู้ดูดควัน
- วิธีการควบคุมด้วยระบบจัดการ เช่น การอบรม ออกระเบียบ เขียนป้ายเตือน
- อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ต้องใช้ เช่น หน้ากากป้องกันไอสารพิษ ถุงมือ แว่นตา
9. คุณสมบัติทางเคมีและกายภาพ
( Physical and Chemical Properties )
- ข้อมูลคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์
- ลักษณะ (Form) ที่สามารถเห็นได้โดยทั่วไป เช่น เป็นของแข็งหรือของเหลวสีน้ำตาลใส เป็นต้น
- สีและกลิ่น (color and odour) เช่น มีสีน้ำตาลอ่อนถึงเหลือง กลิ่นจางๆ เป็นต้น
- จุดหลอมเหลว และจุดเดือด (Boiling point/boiling range)
- ค่าความเป็นกรดด่าง (pH value)
10. ความเสถียรและความไวต่อการเกิดปฏิกิริยา
( Stability and Reactivity )
- คำแนะนำและข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ภายใต้สภาวะการใช้งานและเมื่อแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม
- สภาวะที่ควรหลีกเลี่ยง แสดงรายการของสภาวะต่างๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้สารเคมีหรือเคมีภัณฑ์เกิดปฏิกิริยาที่อันตราย เช่น อุณหภูมิ ความดัน แสง การกระทบกระแทกอย่างรุนแรง เป็นต้น
- วัสดุที่ควรหลีกเลี่ยง แสดงรายการของวัสดุต่างๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้สารเคมีหรือเคมีภัณฑ์เกิดปฏิกิริยาที่อันตราย เช่น น้ำ อากาศ กรด เบส สารออกซิไดซ์ หรือสารเคมีอื่นๆ เป็นต้น
- สารอันตรายที่เกิดจากการสลายตัวของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ แสดงรายการของสารอันตรายซึ่งเกิดขึ้นจากการสลายตัวของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ ซึ่งจะมีการระบุสารพิษที่เกิดจากการสลายตัว สารที่ไม่ควรเก็บไว้ร่วมกัน โอกาสในการเกิดการสลายตัวไปเป็นสารที่ไม่เสถียร และความปลอดภัยที่ควรคำนึงถึงในกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์
11. ข้อมูลด้านพิษวิทยา
( Toxicological Information )
- ความเป็นอันตรายและความเป็นพิษของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าผู้ใช้ได้รับหรือ
สัมผัสกับสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์นั้น โดยแสดงเป็นผลการทดสอบทางวิทยาศาสตร์และประสบการณ์โดยข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพต่างๆ
- มีการจำแนกข้อมูลตามลักษณะและช่องทางการได้รับสารเข้าสู่ร่างกาย (ทางการหายใจ ทางปาก ทางผิวหนัง และทางดวงตา) พร้อมคำอธิบายอาการที่เกิดจากลักษณะทางกายภาพ ลักษณะทางเคมี และลักษณะความเป็นพิษ ของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์
12. ข้อมูลด้านระบบนิเวศ
( Ecological Information )
- การระบุถึงการเปลี่ยนแปลงและการสลายตัวของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ในสิ่งแวดล้อม
- ความเป็นไปได้ของผลกระทบ และผลลัพธ์ต่อสิ่งแวดล้อม (น้ำ อากาศ และดิน) และสัตว์ประเภทต่างๆ
13. มาตรการการกำจัดกาก หรือสารเหลือใช้
( Disposal Considerations )
- วิธีการกำจัดทั้งสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม เช่น การเผา การรีไซเคิล การฝัง ฯลฯ
- ทางเลือกอื่นในการกำจัด เช่นการหมุนเวียน การใช้ซ้ำ หรือการนำกลับมาใช้ใหม่
14. ข้อมูลสำหรับการขนส่ง
( Transport Information )
- ข้อมูลทั่วไปในการขนส่ง
- ข้อควรระวังเกี่ยวกับการขนส่งสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์ที่ผู้ใช้จำเป็นต้องรู้หรือใช้ติดต่อสื่อสารกับบริษัทขนส่งหรือใช้ในการขนส่ง
- ข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องแสดงบนพาหนะขนส่ง หรือในระหว่างขนส่ง
15. ข้อมูลเกี่ยวกับกฎข้อบังคับ
( Regulatory Information )
- ปริมาณที่จัดเก็บได้ในสถานที่ใช้งาน
- ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดตามกฎหมายที่ต้องรายงานให้กับหน่วยงานราชการ
- รหัสหรือสัญลักษณ์เช่น สัญลักษณ์ความเป็นพิษ ความไวไฟ
16. ข้อมูลอื่นๆ
( Other Information )
- ข้อมูลรายละเอียดของความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง (R phrases) ที่ระบุอยู่ในหัวข้อที่ 2 และ 3
- คำแนะนำในการฝึกฝน (training advice)
- ข้อจำกัดของการใช้ หรือการใช้ที่ไม่เหมาะสม
- ข้อมูลอ้างอิง
- แหล่งข้อมูลที่รวบรวมและใช้ในการจัดทำ SDS