ทุกวันนี้กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือ Think Green ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการ “สื่อ” ขององค์กรหรือบริษัทขนาดใหญ่ว่า ตนนั้นดำเนินกิจการที่คำนึงถึงคนในชุมชนและธรรมชาติ ซึ่งอาจจะไม่นับรวมอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากพนักงานเช็ดกระจกที่ตกจากนั่งร้าน หรือกรณีโรงงานน้ำมันใจกลางกรุงระเบิด โรคระบบทางเดินหายใจอักเสบของชาวบ้านในมาบตะพุดและปลาตายเป็นร้อยตัวจากกาก ของเสีย ไปจนถึง ตาแป๊ะไล่สาดน้ำกรดใส่สาวๆแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ดูเหมือนความเสี่ยงจะตามติดเราไปทุกซอกหลืบและพร้อมที่จะกระโจนใส่ยามเราเผลอ ได้ทุกเมื่อ ถึงกระแสรักษา (หน้าตา) สิ่งแวดล้อมจะมาแรงจนฉุดไม่อยู่ก็เหอะ
อาชีพ ที่ต้องเจอกับภาวะเสี่ยงต่อความปลอดภัยของชีวิต เช่น ทหาร คนขับรถ พนักงานในโรงงาน ฯลฯ พวกเขาถูกฝึกสอนมาแล้วว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยที่สุดกับงานที่ทำ รวมถึงนักเคมีในแล็บ ฝ่าย QA, QC หรือ R&D เองก็เช่นกัน พวกเขามีคู่มือและหนังสือความปลอดภัย อยู่แล้วบนโต๊ะทำงานใกล้อ่างล้างเครื่องแก้ว ... (เผื่อสารเคมีหกใส่จะได้ไม่ต้องวิ่งไปล้างไกล) พวกเขาทราบกันดีว่า MSDS ย่อมาจากอะไร … (Moms and Dads) เวลาสารเคมีถูกผิวหนังต้องเช็ดก่อนแล้วค่อยล้างผ่านน้ำไหล 15 นาที … (ใครจะไปนึกทันล่ะ แสบจะตาย) ถ้าเจอกรดไฮโดรคลอริก (HCl) กระเด็นถูกแก้มอย่าใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) ไปสะเทินเชียว … (เนื้อหายนะจ๊ะ) ผู้ชายที่สัมผัสไพรีดินบ่อยๆอาจจะเป็นหมันได้ … (มิน่านักเคมีผู้ชายถึงแต่งงานช้า) อย่าเอาอาหารไปกินในห้องแล็บ … (โกโก้แก้วเดียวเอง) ต้องสวมเสื้อคลุมและเก็บผมให้เรียบร้อยทุกครั้ง … (ก็มันไม่สวยอะ - -*) พวกโลหะหนักเช่น ปรอท พยายามสัมผัสให้น้อยที่สุด …. (กลิ้งไปแถวๆแก้วโกโก้นั่นแล้ว) อย่าใช้ปากดูดหรือเป่าปิเปตโดยตรง … (มันง่ายดี - -‘) ก่อนออกจากห้องแล็บ ตรวจสอบวาล์วแก๊ส ก๊อกน้ำ และเครื่องมือทดลองต่างๆให้เรียบร้อย ... (ที่ห้องแล๊บระเบิดน่ะ ก็เพราะเธอ!) เป็นต้น
สิ่งที่น่าคิดคือ ระดับความปลอดภัยของประเทศไทยทำไมมันถึงได้ตื้นเขินขนาดนี้ ทั้งที่เรามีองค์ความรู้เหล่านี้ท่วมตัวกันไปหมด สาเหตุใหญ่ไม่ได้มาจากว่าเราไม่รู้ เรามักง่าย หรือเราไม่ใส่ใจ แต่เราแค่รักตัวเองและคิดถึงใจคนอื่นน้อยไปหน่อยเท่านั้น เราเอาใจไปอยู่กับสิ่งที่ทำ ( What I Do) มากเกิน จนลืมนึกถึงสิ่งที่เป็น (Who I Am)
ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ที่กระทบชีวิตและจิตใจของเราเกิดขึ้น เรามักจะตั้งคำถามว่า “มันเกิดขึ้นกับฉันได้ยังไง? ทำไมมันต้องเกิดขึ้นกับฉัน?” แต่กลับไม่คิดเลยว่า “ฉันทำสิ่งใดที่เป็นต้นเหตุให้เรื่องนี้เกิดขึ้น?” เช่น กินอาหารไขมันสูงทุกวัน แล้วพบว่าตัวเอง เป็น ความดันโลหิตสูง ทำใจไม่ได้ ทำงานในอิริยาบถเดิมทุกวัน ปวดหลัง หมอบอกว่าเป็น หมอนรองกระดูกอักเสบ อาศัยใน condominium หรูใกล้รถไฟฟ้า เป็น ภูมิแพ้และหอบหืด สงสัยว่าเป็นได้อย่างไร ขี้เกียจสวมถุงมือเวลาทำแล็บ ตรวจพบว่า เป็น เจอมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ฯลฯ จะ เห็นว่าเรารักชีวิตของเราน้อยมาก เพียงเพื่อแลกกับความสะดวกสบายเล็กๆน้อยๆ การกิน ดื่ม เสพ เที่ยว ที่เราหลงเชื่อว่ามันเป็นทางแห่งความสุข ทำให้เรายอมลดระดับมาตรฐานชีวิตของเราลงอย่างน่าใจหาย ไม่ว่าจะเศรษฐี หรือ ยาจก ต่างตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ต่อให้มีกฎ ระเบียบออกมาว่าให้เราพยายามทำงานให้ปลอดภัยต่อชีวิตมากที่สุด มีอุปกรณ์ ป้องกันทุกอย่าง มันก็คงเหมือนเดิม ถ้าเราไม่เปลี่ยน ทัศนคติ ต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน
สำหรับสารเคมีเองก็เช่นกัน มันไม่ได้เป็นพิษต่อสิ่งใดโดยตรง เพราะยามที่ใครต้องการมัน มันยอมให้ถูกใช้ ยอมให้ถูกแปรรูป แต่เวลาเกิดสิ่งผิดปกติขึ้นกับร่างกายของผู้ใช้ กลับกล่าวโทษว่า มันเป็น วัตถุมีพิษและอันตราย เหมือนนิทานเรื่องหนึ่ง ที่ว่า… ห้องน้ำของโรงเรียนสกปรกมาก คุณครูถามว่าจะโทษใคร นักเรียนตอบเป็นเสียงเดียวกันในใจว่า คนทำความสะอาด คุณครูเหมือนอ่านใจออกแล้วสวนกลับว่า “จะบอกว่า คนทำความสะอาดเหรอ? แล้วพวกที่ใช้ ทำไมไม่คิด? ” นักเรียนกลับบ้านไปด้วยเสียงอะไรบางอย่างที่ดังก้องในหัว เย็นวันนั้นพวกเขากลับไปล้างห้องน้ำที่บ้าน … คู่มือความปลอดภัยในห้องแล็บ หนังสือเล่มโต หรือกฎระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่ จะไม่ช่วยให้ชีวิตท่านปลอดภัยขึ้นเลย หากทัศนคติในการใช้ชีวิตและการทำงานไม่เดินนำหน้าไปก่อน
By Halong Bae
ขอขอบคุณรูปภาพจาก
1. Are You Bringing Toxic Chemicals Home from Work? ( https://sites.sph.harvard.edu/hoffman-program/2015/12/07/are-you-bringing-toxic-chemicals-home-from-work/ )
2. การปฐมนิเทศและฝึกอบรมด้านความปลอดภัย ( http://www.shawpat.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=511:-m-m-s&catid=51:-m---m-s&Itemid=202 )
3. ความปลอดภัยในการประกอบอาชีพอุตสาหกรรม ( http://www.mediasearch.co.th/new_ariticle/CCTV-ariticle129.php )