ก่อนอื่นเลยเราอยากให้คุณลองเลือกดูว่าคุณมีพฤติกรรมการจัดเก็บสารเคมีในห้องปฏิบัติการตรงกับข้อใดบ้าง ดังต่อไปนี้....ก่อนที่เราจะเข้าสู่รายละเอียดวิธีการจัดเก็บสารเคมีที่ถูกต้องกันจ้า ....^^
1. จัดเก็บสารเคมีแบบสุ่ม
2. จัดเก็บสารเคมีเรียงตามตัวอักษร
3. จัดเก็บสารเคมีตามหมวดหมู่ที่ไม่ถูกต้อง เช่น กรดทุกประเภท (inorganic, organic, Stronge oxidizer ) จัดเก็บรวมกัน
4. จัดเก็บสารเคมีไว้ในเครื่องดูดควันในขณะที่ใช้งานเครื่องดูดควัน
5. จัดเก็บสารเคมีไวไฟไว้ในตู้เย็น
6. จัดเก็บอาหารไว้ข้างสารเคมีในตู้เย็น
7. จัดเก็บสารเคมีไว้บนชั้นวางเหนือระดับสายตา
8. จัดเก็บขวดเรียงซ้อนกัน
9. จัดวางภาชนะบรรจุหลายๆชนิดอย่างแออัด
10. สารเคมีที่ใช้งานแล้วตั้งทิ้งไว้บนโต๊ะทดลอง หรือ นำออกไปนอกห้องปฏิบัติการ
11. ชั้นวางสำหรับจัดเก็บสารเคมีไม่แข็งแรง หรือ วัสดุไม่เหมาะสม
12. ชั้นวางไม่ได้ยึดอย่างแน่นหนาถาวร เช่น ผนัง หรือ โต๊ะทดลอง
13. ชั้นวางจัดวางไม่พอดี มีการเอียงเล็กน้อย
14. การจัดการที่ไม่ถูกต้อง คือ ภาชนะบรรจุสารเคมีไม่ได้ระบุวันที่ หรือ ภาชนะบรรจุสารเคมีมีความเก่ามาก
15. บางภาชนะบรรจุไม่มีฉลากหรือฉลากไม่ถูกต้อง คือ ไม่มีคำอธิบายถึงอันตรายของสารเคมี
16. จัดเก็บภาชนะบรรจุไว้บนพื้น
17. ฝาปิดภาชนะบรรจุมีสภาพชำรุด
เชื่อเถอะว่าจะต้องมีสักข้อที่เกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการที่คุณใช้งานอยู่ ส่วนใหญ่ล้วนแล้วเกิดจากความมักง่ายของผู้ใช้งานทั้งสิ้น เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุเมื่อไร เพราะฉะนั้นการป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่าการแก้ไขปัญหาภายหลัง เราจึงควรมารู้จักวิธีการจัดเก็บสารเคมีในห้องปฏิบัติการอย่างปลอดภัย ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลักๆ 3 วิธี
1. การจัดเก็บแบบสุ่ม (Random Storage)
เป็นระบบการจัดเก็บสารเคมีที่ไม่ดีที่สุด ซึ่งการจัดเก็บแบบสุ่มนี้ ไม่มีการคำนึงถึงข้อจำกัดว่าสารเคมีแต่ละชนิดควรจัดเก็บอย่างไรหรือที่ไหน ทั้งยังอาจส่งผลให้เกิดผลเสียหรืออันตรายที่มากเกินจะคาดคิดได้ คุณอาจพบเจอ สารเคมีประเภทกรดวางเก็บอยู่ติดกับสารเคมีประเภทเบส, สารเคมีประเภทออกซิไดซ์ (Oxidizers) อยู่ติดกับสารเคมีไวไฟ (Flammables), สารที่ทำปฏิกิกริยากับน้ำวางไว้ไกล้อ่างล้างมือ, สารเคมีที่มีความเป็นพิษสูงอยู่ติดกับโต๊ะทำงาน นี้เป็นตัวอย่างลักษณะการจัดเก็บที่อาจเกิดอุบัติเหตุที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ทุกเมื่อ
2. การจัดเก็บแบบเรียงตามตัวอักษร (Alphabetical Chemical Storage)
เป็นวิธีการจัดเก็บสารเคมีที่พบมากที่สุด การจัดเก็บสารเคมีแบบเรียงตามตัวอักษรนี้ดีกว่าการจัดเก็บแบบสุ่ม แต่ยังคงมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากปฏิริยาของสารที่ไม่สามารถเข้ากันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีฉุกเฉิน เช่น การเกิดไฟไหม้ , การรั่วไหล และภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีหลายตัวอย่างที่จะแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดเก็บสารเคมีแบบเรียงตามอักษร (คู่มือ Brethericks เป็นคู่มือเกี่ยวกับปฏิกิริยาที่อันตรายของสารเคมี หรือ NFPA 491M คู่มือการเกิดปฏิกิริยาของสารเคมีอันตราย ประกอบด้วยส่วนผสมของสารเคมี 2 ชนิดขึ้นไป เรียงตามตัวอักษรที่มีรายงานว่าทำให้เกิดอันตรายจากอัคคีภัย และการระเบิด )
ข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (SDS) ในส่วนที่ 7 (Handling and storage) แสดงข้อควรระวังในการจัดเก็บสารเคมี ได้แก่ สภาวะแวดล้อมที่ควรหลีกเลี่ยง และสารเคมีที่ไม่ควรเก็บรวมกัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ในการพิจารณาในการจัดเก็บสารเคมีที่ผู้ใช้และครอบครองสารเคมีควรรู้ แต่นอกจากข้อมูลที่แสดงในส่วนที่ 7 นี้นั้น ยังมีข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยในการตัดสินใจเพิ่มเติม นั้นคือข้อมูลในส่วนที่ 14 (Transport information) แสดงข้อมูลการจำแนกสารเคมีตามลักษณะอันตรายของสหประชาชาติ หรือ UN class ซึ่งมีความหมายดังนี้
Class 1 หมายถึง สารระเบิดได้
Class 2 หมายถึง ก๊าซ
Class 2.1 หมายถึง ก๊าซติดไฟได้
Class 2.2 หมายถึง ก๊าซไม่ติดไฟ ไม่เป็นพิษ
Class 2.3 หมายถึง ก๊าซพิษ
Class 3 หมายถึง ของเหลวติดไฟได้
Class 4 หมายถึง ของแข็งติดไฟ
Class 4.1 หมายถึง ของแข็งติดไฟ
Class 4.2 หมายถึง วัตถุที่มีแนวโน้มเกิดการเผาไหม้ได้เอง
Class 4.3 หมายถึง สารที่ทำปฏิกิริยากับน้ำแล้วเกิดก๊าซติดไฟได้
Class 5 หมายถึง สาร Oxidizing และ Organic peroxides
Class 5.1 หมายถึง Oxidizing agents
Class 5.2 หมายถึง Organic peroxides
Class 6 หมายถึง สารพิษและสารติดเชื้อ
Class 6.1 หมายถึง สารพิษ
Class 6.2 หมายถึง สารติดเชื้อ
Class 7 หมายถึง สาร/วัตถุกัมมันตรังสี
Class 8 หมายถึง สารกัดกร่อน
Class 9 หมายถึง สารอันตรายอื่นๆ
แม้ว่าข้อมูลในส่วนที่ 14 นี้เป็นข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในการขนส่ง แต่สามารถนำมาใช้ในการจำแนกสารเคมีเพื่อการจัดเก็บเช่นเดียวกับการจำแนกสารเคมีโดยระบบอื่น โดยที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดมาตรฐานในการแยกเก็บสารเคมีแยกตาม UN class ดังแสดงในตารางที่ 1
ตารางที่ 1 : การแยกเก็บสารเคมีตามประเภทของสารเคมีอันตราย
หมายเหตุ
NA หมายถึง สามารถจัดเก็บบริเวณเดียวกันได้
SG หมายถึง ต้องแยกจากกันอย่างน้อย 3 เมตร
FS หมายถึง เก็บแยกจากกันหรือห่างกันอย่างน้อย 5 เมตร
PR หมายถึง ห้ามอยู่ใกล้เคียงกัน ต้องแยกจากกันอย่างน้อย 10 เมตร
ขอขอบคุณเครดิตภาพจาก : http://tukta0809.blogspot.com/2011/
ภาพที่ 1 : การจัดเก็บสารเคมีของ Loba Chemie
ขอขอบคุณเครดิตภาพจาก Loba Chemie PVT. LTD.
ปัญหาสำหรับการจัดเก็บสารเคมีแบบเรียงตามตัวอักษร
จากที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า การจัดเก็บสารเคมีแบบเรียงตามตัวอักษรนั้นเป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาก อีกทั้งง่าย สะดวกสบายต่อการค้นหาใช้งาน แต่ยังคงมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากปฏิริยาของสารที่ไม่สามารถเข้ากันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีฉุกเฉิน โดยเราได้ยกตัวอย่างปัญหาของสารเคมีที่อยู่ในกลุ่มตัวอักษรเดียวกัน มาให้ดังต่อไปนี้
✥ Acetic acid รวมกับ Acetaldehyde : Acetic acid ปริมาณเพียงเล็กน้อย ทำให้เกิดการโพลิเมอร์ไรซ์ Acetaldehyde ทำให้เกิดความร้อนจำนวนมาก
✥ Acetic anhydride รวมกับ Acetaldehyde : ปฏิกิริยาการรวมตัวกันสามารถทำให้เกิดการระเบิดที่รุนแรง
✥ Acrolein รวมกับ Ammonia, aqueous : Acrolein และ Alkali หรือ Amine ทำให้เกิดปฏิกิริยาพอลิเมอไรซ์ที่มีความรุนแรงมาก
✥ Aluminum metal รวมกับ Ammonium nitrate : ทำให้เกิดการระเบิด
✥ Aluminum metal รวมกับ Antimony trichloride : โลหะ Aluminum เกิดการเผาไหม้ใน Antimony trichloride
✥ Aluminum metal รวมกับ Any bromate (or chlorate oriodate) : โลหะ Aluminum และ Bromate หรือ Chlorate oriodate ก่อให้เกิดการระเบิดที่มีศักยภาพที่สามารถจุดชนวนด้วยความร้อน แรงเสียดทาน หรือ แสง
✥ Aluminum chloride - Self-reacting : เมื่อเก็บเป็นเวลานานๆ การระเบิดจะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปิดภาชนะ
✥ Ammonium nitrate รวมกับ Acetic acid : สามารถจุดชนวนโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีความเข้มข้นของกรดมาก
✥ Cupric sulfide รวมกับ Cadmium chlorate : ทำให้เกิดการระเบิด
✥ Hydrogen peroxide รวมกับ Ferrous sulfide : เกิดปฏิกิริยาที่แข็งแรงและเกิดความร้อนสูง
✥ Lead perchlorate รวมกับ Methanol : ทำให้เกิดการระเบิด
✥ Maleic anhydride รวมกับ Magnesium hydroxide : ทำให้เกิดการระเบิด
✥ Mercury nitrate รวมกับ Methanol : ทำให้เกิดการสร้างปรอท และเกิดการระเบิด
✥ Nitric acid รวมกับ Nitrobenzene ; ทำให้เกิดการระเบิด
✥ Potassium cyanide รวมกับ Potassium nitrite : ทำให้เกิดการระเบิดถ้าได้รับความร้อน
✥ Silver รวมกับ Tartaric acid : ทำให้เกิดการระเบิด
✥ Silver oxide รวมกับ Sulfur : ทำให้เกิดการระเบิด
✥ Sodium รวมกับ Selenium : ทำให้เกิดปฏิกิริยาการเผาไหม้
✥ Sodium รวมกับ Silver bromide, Silver chloride, Silverfluoride, or Silver iodide : ส่งผลกระทบกับระบบที่มีความสำคัญ
✥ Sodium รวมกับ Sulfur : ทำให้เกิดการระเบิดที่รุนแรง
✥ Sodium รวมกับ Stannic halides : ส่งผลกระทบกับระบบที่มีความสำคัญ
✥ Sodium cyanide รวมกับ Sulfuric acid : ทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์
3. การจัดเก็บที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้อง (Incomplete or Poorly Chosen Categorical Storage)
ระบบการจัดเก็บแบบนี้ จะมีการคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างประเภทความอันตรายของสารเคมี ซึ่งมีการพัฒนาระบบให้ดีกว่าการจัดเก็บแบบเรียงตามตัวอักษร ตัวอย่างของการจัดเก็บลักษณะนี้ ได้แก่
1. จัดเก็บสารเคมีประเภทกรดแยกไว้ต่างหาก แต่ไม่ได้เก็บกรดไนตริกและกรดเปอร์คลอริก แยกจากกัน และบางทีอาจจะเก็บกรดเปอร์คลอริกไว้บนชั้นวางของซึ่งทำจากไม้
2. จัดเก็บสารเคมีประเภทของแข็งแยกจากของเหลว แต่สารเคมีประเภทของแข็งไวไฟ ถูกจัดเก็บถัดจากสารเคมีประเภทของแข็งกลุ่มออกซิไดเซอร์
3. จัดเก็บสารเคมีกลุ่ม organic แยกออกจากกลุ่ม inorganic แต่ไม่ได้เก็บสารเคมีไวไฟและสารเคมีที่เป็นพิษที่อันตรายมากแยกจากสารเคมีประเภทอื่นๆ
4. ไม่มีระเบียบหรือข้อควรระวังในการเก็บสารเคมีที่ทำปฏิกิริยากับน้ำ
การจัดเก็บสารเคมีที่กล่าวมาข้างต้นทั้ง 3 ประเภทนั้น ดีกว่าการจัดเก็บแบบที่ไม่คำนึงถึงอะไรเลย แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการจัดเก็บสารเคมีที่ถูกต้อง ยังคงมีความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสารเคมีที่ทำปฏิกิริยากััน ดังนั้นเราจึงควรเรียนรู้วิธีการจัดเก็บสารเคมีที่ถูกต้องแบบสมบูรณ์
เราไปเรียนรู้กันต่อ ... ในบทความเรื่อง " SAFETY TIPS EP.2 : การจัดสารเคมีตามหมวดหมู่ (Categorical Storage) " กันได้เลยจ้า
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก...
1. " SAFETY TIPS : Storage Practices ", [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา www.lobachemie.com (15 มีนาคม 2561).
2. " การจัดเก็บสารเคมีแยกตามลักษณะอันตรายของ UN มีหลักเกณฑ์อย่างไร " , [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=11&ID=13 (12 มิถุนายน 2561).
NEXT ARTICLE>>
SAFETY TIPS EP.2 : Categorical Storage : การจัดเก็บสารเคมีตามหมวดหมู่ >>
<=